ODIE นักร้อง/นักแต่งเพลงแนว Genre-Bending ทำให้ฐานผู้ฟังเพิ่มขึ้นถึง 69% ด้วยวิธีนี้

Timothy "Timmhotep" Cornwall / February 22, 2021

ความเห็นของ ODIE และทีมงานจาก EMPIRE เกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนผู้ฟังขึ้นตามพัฒนาการของเพลง และการทดลองใช้ Discovery Mode ให้เหมาะกับกลยุทธ์

ODIE กลับมาแนะนำตัวกับผู้ฟังอีกครั้ง นักร้อง/นักแต่งเพลงแนวลูกผสมชาวแคนาดาแต่มาโตที่แคลิฟอร์เนีย กำลังเตรียมออกอัลบั้มที่สองในปลายปีนี้ หลังจากปล่อยอัลบั้มเปิดตัว Analogue ออกมาในปี 2018 และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีซิงเกิลฮิตอย่าง "North Face" และ "Little Lies"

ศิลปินวัย 24 ปีผู้นี้พูดคุยกับ Spotify for Artists จากสตูดิโออัดเสียงในลอสแอนเจลิส โดยกล่าวว่าผลงานครั้งนี้จะเป็นการสะท้อนพัฒนาการทางดนตรีนับตั้งแต่ออกอัลบั้ม Analogue มา "ผลงานของผมตั้งแต่เริ่มทำเพลงมามีประเด็นหลักอยู่ที่การแสดงถึงการเติบโตทางจิตวิญญาณของตัวผมเอง" ODIE กล่าว หลังจากประสบความสำเร็จกับอัลบั้มเปิดตัว ความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า ODIE ก็คือการทำให้ฐานแฟนเพลงเติบโตไปพร้อมกัน ODIE เป็นหนึ่งในศิลปินของค่าย EMPIRE ที่ได้ทดลองใช้ Discovery Mode เครื่องมือชิ้นใหม่จาก Spotify for Artists ที่ช่วยให้ศิลปินเข้าถึงผู้ฟังหน้าใหม่ๆ บน Spotify ได้ดีขึ้น ODIE ซึ่งกำลังหัวหมุนกับการทำอัลบั้มถัดไป สละเวลาในช่วงที่พักจากการทำเพลงมาเล่าให้เราฟังสั้นๆ เกี่ยวกับการปรับ Discovery Mode ให้เข้ากับกลยุทธ์ซึ่งช่วยให้เขาทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ

เพลงของ ODIE ซึ่งบางครั้งก็ได้รับการจัดประเภทเป็นแนวเพลง "อัลเทอร์เนทีฟอาร์แอนด์บี" ที่เป็นการหยิบเอาดนตรีรูปแบบต่างๆ ที่มีอิทธิพลกับชีวิตของศิลปิน ร่ายมาตั้งแต่ฮิปฮอป ร็อก อัลเทอร์เนทีฟ ป็อป อาร์แอนด์บี ไปจนถึงเพลงไนจีเรียที่เขาซึมซับมาจากพ่อแม่ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก มาผสมผสานเข้าด้วยกัน ODIE ภูมิใจกับการเปิดรับดนตรีทุกรูปแบบรวมถึงแนวเพลงที่ยากจะจัดประเภทของตัวเอง โดยยกย่องให้ศิลปินหัวขบถอย่าง Kid Cudi และ Frank Ocean เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อตัวเอง "ผมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นศิลปินแนวอาร์แอนด์บี เป็นแรปเปอร์ หรือเป็นแนวอัลเทอร์เนทีฟอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมแค่ทำเพลงอย่างที่ตัวเองชอบ ซึ่งกลั่นมาจากทุกสิ่งที่ผมชอบเท่านั้นเอง" ODIE กล่าว ความสงสัยใคร่รู้และชอบทดลองดนตรีรูปแบบใหม่ๆ ทำให้ผลงานของเขาในเพลย์ลิสต์จากบรรณาธิการของ Spotify ซึ่งไม่แบ่งแนวเพลงและเน้นไปที่อารมณ์ความรู้สึก เช่น Lorem และ Pollen เป็นที่ชื่นชอบและถูกใจบรรดาแฟนๆ ที่ไม่เชื่อเรื่องการแบ่งแนวเพลงเช่นกัน

ในฐานะศิลปินหน้าใหม่ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ODIE อยากที่จะพัฒนาขึ้นในทางดนตรีและมีฐานผู้ฟังเพิ่มเป็น 1.65 ล้านคนต่อเดือนไปพร้อมๆ กับการพัฒนาตัวตนและผลงานต่อไป สำหรับ ODIE และ Chris Emmett ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและผู้จัดการ มองว่าการประสานช่องว่างระหว่างของเก่ากับของใหม่ต้องใช้แนวทางแบบองค์รวม "เราต้องการให้เป็นการเดินทางที่สั่นสะเทือนความรู้สึกมากกว่าจะเป็น [แค่] การแลกเปลี่ยนสินค้าเฉยๆ นี่ไม่ใช่แค่การปล่อยผลงานเพลง แต่เป็นการเผยแง่มุมหนึ่งของชีวิตออกมา" Emmett กล่าว ซึ่งสำหรับทั้งสองคน นั่นหมายถึงการปล่อยผลงานอย่างต่อเนื่องจนต่อยอดไปเป็นอัลบั้มใหม่ อย่างซิงเกิลในปี 2020 ของ ODIE ที่ชื่อว่า "Slowly" และ "Miss Summer" ซึ่งให้อารมณ์ความรู้สึกใกล้เคียงกับซิงเกิลในอัลบั้ม Analogue และ EP ที่มีชื่อว่า N.F.A. [No Future Ambition] Demos ซึ่งเป็นการสำรวจสภาวะทางอารมณ์นับจากอัลบั้ม Analogue มาจนถึงตอนนี้ "ผมทำเพลงเยอะมากในช่วง 1 ปีกับ 6 เดือนที่ผ่านมา เยอะจนเรียกได้ว่า เราวางแผนการออกผลงานในปีนี้ ปีหน้า จนถึงปีต่อๆ ไปเอาไว้แล้ว"

ในระหว่างนี้ การเพิ่มจำนวนผู้ฟังคือกุญแจสำคัญของแผน ขณะที่ป้อนเพลงให้แฟนๆ ในปัจจุบันได้ฟังระหว่างรออัลบั้มใหม่ ทั้งสองก็อยากให้ผู้ฟังหน้าใหม่ได้รู้จักเพลงเก่าๆ และสนใจเข้าไปฟังเพลงในแคตตาล็อกของ ODIE บน Spotify ด้วย ซึ่ง Discovery Mode เข้ามาช่วยให้เป้าหมายนี้เป็นจริง โดยทำให้เพลงของ ODIE มีโอกาสเข้าถึงผู้ฟังบน Spotify มากขึ้นเมื่อผู้ฟังเปิดรับการค้นพบมากที่สุด ส่วน EMPIRE ก็เป็นหนึ่งในค่ายเพลงกลุ่มเล็กๆ ที่ได้ทดลองใช้คุณสมบัติการพัฒนากลุ่มผู้ฟังแบบใหม่นี้ และให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนา Discovery Mode ให้เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อศิลปินในทุกช่วงของเส้นทางอาชีพ

Discovery Mode ให้ทีมศิลปินเลือกเพลงที่ต้องการแสดงเป็นอันดับแรกๆ ในรายการแนะนำตามอัลกอริทึม เมื่อ Spotify ใช้สัญญาณต่างๆ เลือกเพลงถัดไปให้ผู้ฟัง เราจะแจ้งข้อมูลให้ทีมศิลปินทราบในรายการแนะนำ และช่วยค้นหาผู้ฟังที่มีแนวโน้มจะชอบเพลงของทีมมากที่สุด หลังจากเผยแพร่เพลง "Miss Summer" ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ทีมของ ODIE ที่ EMPIRE ก็ได้ทดลองใช้ Discovery Mode เพื่อดูว่าจะเพิ่มความสนใจให้ซิงเกิลใหม่และกระตุ้นให้ผู้ฟังเข้ามาทำความคุ้นเคยกับทุกผลงานของเขาอย่างลึกซึ้งขึ้นได้อย่างไร ทีมงานพบว่าผู้ฟังของ ODIE เพิ่มขึ้นถึง 69% ซึ่งทำให้เขาได้รับค่าลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับก่อนใช้ Discovery Mode

Discovery Mode ยังอยู่ในช่วงทดสอบระยะแรก แต่จากผลลัพธ์ที่เป็นไปได้เหล่านี้และข้อเสนอแนะจากคู่ค้าของเรา ทำให้เรามั่นใจที่จะขยายสิทธิ์การใช้งานไปยังค่ายเพลงจำนวนมากขึ้นในปลายปีนี้ รายการแนะนำตามอัลกอริทึมของเราเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงว่าที่แฟนๆ บน Spotify ที่สนใจค้นหาเพลงใหม่ๆ มาฟัง สำหรับศิลปินอิสระอย่าง ODIE ซึ่งมีผลงานเพลงที่ยากจะจัดให้อยู่ในแนวเพลงแค่แนวเดียวนั้น อัลกอริทึมของ Spotify จะช่วยทดสอบว่าผู้ฟังคนไหนจะให้การตอบรับที่ดีกับเพลงของเขาได้อย่างชาญฉลาด และเนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายล่วงหน้าในการเริ่มต้นใช้งาน ค่ายเพลงและผู้จัดจำหน่ายทุกระดับจึงสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ศิลปินทุกคนมีโอกาสโฆษณาตัวเอง เพิ่มจำนวนฐานแฟนเพลง และควบคุมความสำเร็จบน Spotify ได้มากขึ้น "เครื่องมือนี้ยอดเยี่ยมมากสำหรับศิลปินอิสระอย่างเราที่ต้องการความเท่าเทียมในวงการดนตรี และยังช่วยเพิ่มการเข้าถึงเพลงของเราได้ดีมากอีกด้วย" Emmett กล่าว

สำหรับ ODIE การเปลี่ยนผู้ฟังทั่วๆ ไปให้เป็นแฟนตัวยงยังหมายถึงการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกับคนทั้งโลก ทำให้เรื่องส่วนตัวกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจ เช่นเดียวกับที่ไอดอลของเขาทำ "ในฐานะแฟนเพลง เวลาที่ผมฟังเพลงของ Kid Cudi ผมไม่ได้คิดว่า 'อา สงสัยจังว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Kid Cudi ตอนที่เขาแต่งเพลงนั้นขึ้นมานะ' แต่กลับคิดว่าเขากำลังเล่าถึงชีวิตผมอยู่ และยิ่งผมมั่นคงในแนวทางของตัวเองมากเท่าไร ผมก็ยิ่งเป็นเสมือนตัวแทนที่เล่าเรื่องราวชีวิต [ทุกวันนี้] แทนเด็กเหล่านั้นได้มากเท่านั้น ทุกๆ คนก็จะสามารถเติบโตและพัฒนาไปพร้อมกับผมได้" ODIE กล่าว

Spotify for Artists ช่วยคุณพัฒนาฐานแฟนที่คุณต้องการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

แชร์เรื่องราวนี้